ประวัติ ของ หมื่นพรหมสมพัตสร (มี)

นายมี หรือเสมียนมี คงจะเกิดในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ราวปีเถาะ พ.ศ. 2338 หรือปีมะโรง พ.ศ. 2339[2] เป็นบุตรพระโหราธิบดี บ้างสันนิษฐานว่า คือพระโหราธิบดี (โลกเนต) พ.ศ. 2300 –2355 หรือพระโหราธิบดี (สมุ) พ.ศ. 2300–2371 หรือพระโหราธิบดี (ชุม) ซึ่งเป็นโหรมีชื่อว่าชำนาญวิชาสุริยาตรพยากรณ์ แตกฉานในอักษรสมัยทั้งเป็นอาจารย์บอกพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุและสามเณรและมีสำนักอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนมารดาชื่อใดไม่ปรากฏ

เมื่อบวชอยู่ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในสมัยสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงครองวัด ร่วมสมัยกับพระภิกษุสุนทรภู่ เป็นศิษย์ของสุนทรภู่ ดังที่ได้เขียนเล่าไว้ในวรรณคดีที่แต่งหลายเรื่อง เช่น กล่าวไว้ในนิราศถลางว่า "ฉันเป็นศิษย์สุนทรยังอ่อนศักดิ์ พิไรรักมิ่งมิตรกนิษฐา" ผลงานประพันธ์บางเรื่องของนายมี บ้างมีความเข้าใจว่าเป็นผลงานของสุนทรภู่ เช่น นิราศพระแท่นดงรัง และนิราศสุพรรณ นอกจากนี้นายมียังมีความรู้ทางดนตรีและเป็นผู้บอกสักวาด้วย

ต่อมานายมีได้เข้าเป็นมหาดเล็กช่างเขียนในกรมช่างเขียนมหาดเล็กฝ่ายพระบรมมหาราชวัง มีส่วนร่วมในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามทำให้ได้รับสมญานามว่า นายมีลงกาใหม่ เหตุเพราะมีความคิดริเริ่มที่แปลกใหม่ในการเขียนภาพจิตรกรรมเรื่อง รามเกียรติ์ ตอนพระวิศวกรรมลงมาสร้างพระนครลงกาใหม่ให้แก่ทศกัณฐ์

จน พ.ศ. 2387 นายมีได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นพรหมสมพัตสร นายอากรเมืองสุพรรณ นายมีถึงแก่กรรมเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน สันนิษฐานว่าคงก่อนสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[3]